นม นับว่าเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญสำหรับทารกตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งนมจะทำหน้าที่ในการส่งเสริมร่างกายให้เจริญเติบโตอย่างสมวัย มอบสารอาหารที่จำเป็นที่ช่วยทำให้ระบบร่างกายต่าง ๆ ทำงานได้ดี รวมไปถึงสร้างภูมิคุ้มกันที่จะช่วยให้ร่างกายต้านทานโรคได้ด้วย โดยที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นคือคุณสมบัติที่ “นมแม่” สามารถทำได้นั่นเอง และด้วยเหตุนี้เอง แพทย์หลายคนต่างลงความเห็นว่านมแม่นั้นดีที่สุดต่อทารก และควรให้อย่างสม่ำเสมอเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการของทารกน้อย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่านมแม่จะมีประโยชน์อย่างมาก แต่ด้วยปัญหาสุขภาพของคุณแม่บางประการ หรือมีเหตุสุดวิสัยอะไรสักอย่างที่ทำให้แม่ไม่สามารถให้นมได้ ก็อาจทำให้ต้องเปลี่ยนวิธีการมาเป็นการให้ดื่มนมผงแทน แน่นอนว่าสิ่งที่ได้รับจากนมผงนั้น ไม่อาจเทียบเท่าได้กับนมแม่ได้ แต่ก็ใช่ว่านมผงจะไม่มีประโยชน์อะไรแม้แต่น้อย
ข้อดีและข้อเสียของนมผง
หากพูดถึงการให้นมผงแล้ว ก็นับว่ามีข้อดีบางอย่างที่ได้เปรียบกว่าการให้นมแม่อยู่เช่นกัน โดยข้อได้เปรียบที่ว่านั้นมีดังนี้
- สามารถให้สมาชิกในครอบครัวคนอื่นอย่าง พ่อ ปู่ ย่า ตา ยาย สามารถให้นมแทนแม่เด็กได้ ในกรณีที่แม่มีธุระสำคัญหรือเจ็บป่วย
- สามารถระบุปริมาณได้ว่า ลูกดื่มนมมากน้อยแค่ไหนต่อมื้อ
- ไม่จำเป็นต้องดื่มนมบ่อย ๆ เหมือนนมแม่ เพราะนมผงใช้เวลาย่อยนานกว่า ทำให้การดื่มนมเป็นเวลาที่แน่นอน
- ในระหว่างที่ให้นม ทำให้คนอื่น ๆ ในครอบครัวสามารถสัมพันธ์กับเด็กได้
แม้ว่านมผงจะมอบความสะดวกสบายหลายอย่างให้กับแม่ได้เป็นอย่างดี แต่มีข้อเสียเปรียบที่นมผงไม่สามารถทำได้ดีเทียบเท่านมผงตรงที่
- นมผงไม่สามารถมอบภูมิคุ้มกันโรคได้เหมือนนมแม่
- ไม่มีสารอาหารจำเป็นที่เพียงพอเท่านมแม่
- ค่าใช้จ่ายในการซื้อนมผงและขวดนมในจำนวนที่เพียงพอค่อนข้างสูง
- ต้องเสียเวลาในการชงนม ต้องชงในอัตราส่วนที่ถูกต้อง และอุณหภูมิที่เหมาะสม
- ต้องเสียเวลาในการล้างขวดน้ำจำนวนหนึ่งพอสมควร
- สำหรับเด็กที่มีปัญหาเรื่องการย่อยอาหาร อาจทำให้เด็กเกิดอาการท้องผูกได้
ข้อควรคำนึงในการเลือกซื้อนมผง
หากเกิดสถานการณ์ที่ว่าคุณแม่ไม่สามารถให้นมแม่เองได้ นมผงก็นับว่าเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ดีที่น่าพิจารณาเลยทีเดียว
เมื่อถึงจุดที่เราต้องเลือกซื้อนมผงแล้ว เราต้องพิจารณาคุณสมบัติต่าง ๆ ของนมผงแต่ละอย่างว่าเหมาะสมกับลูกของเราหรือไม่ โดยข้อควรคำนึงในการเลือกซื้อนั้น ต้องพิจารณาตามหัวข้อดังนี้
- เลือกสูตรให้ตรงกับอายุของลูก สูตรนมผงแต่ละอย่างล้วนคุณสมบัติที่แตกต่างกัน ดังนั้นเราดูข้อมูลบนฉลากอย่างถี่ถ้วนก่อนซื้อ
- อาการแพ้สารอาหาร เด็กแต่ละคนล้วนมีสภาพร่างกายที่แตกต่างกัน ดังนั้นควรเช็คข้อมูลบนฉลากให้ดีว่ามีส่วนผสมที่ทำให้ลูกเกิดอาการแพ้รวมอยู่หรือไม่
- ส่วนผสมของน้ำตาล เราควรเลือกสูตรที่ส่วนผสมของน้ำตาลที่น้อยที่สุด เพื่อป้องกันการติดหวานในเด็กและโรคที่มีสาเหตุมาจากน้ำตาล เช่น ฟันผุ เป็นต้น
- ความสะอาด ควรเลือกนมผงที่มีขนาดสามารถชงหมดได้ในเกิน 7 วัน เพื่อป้องกันการก่อตัวของเชื้อโรคในกระป๋องนมผง
ปริมาณนมที่ลูกต้องการ
ในกรณีให้นมแม่นั้น ทารกจะกินนมจนหยุดไปเองเมื่อรู้สึกอิ่มแล้ว แต่ในกรณีที่เป็นนมผงนั้น จะมีเกณฑ์คร่าว ๆ ให้คำนวณปริมาณที่ควรให้ โดยอิงตามน้ำหนักตัวของทารก คือ ควรให้นมประมาณวันละ 75 มิลลิลิตรต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือใช้เกณฑ์ที่แบ่งตามอายุดังต่อไปนี้
- ทารกแรกเกิด-อายุ 1 เดือน ควรได้รับนมประมาณ 45-90 มิลลิลิตรต่อครั้ง ทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง ปริมาณจะเพิ่มขึ้นตามอายุ ทั้งนี้ ทารกมักนอนหลับนาน 4-5 ชั่วโมงในช่วงเดือนแรก และอาจทำให้ดื่มนมได้ไม่ครบตามต้องการ คุณพ่อคุณแม่ควรพยายามปลุกให้ลูกตื่นขึ้นมาดื่มนมตามปริมาณปกติอย่างสม่ำเสมอ
- อายุ 2-3 เดือน ควรได้รับนมประมาณ 120-150 มิลลิลิตรต่อครั้ง ทุก ๆ 3-4 ชั่วโมง
- อายุ 4-5 เดือน ควรได้รับนมประมาณ 120-180 มิลลิลิตรต่อครั้ง โดยระยะเวลาในการให้นมแต่ละครั้งจะขึ้นอยู่กับขนาดตัวของเด็ก
- อายุ 6 เดือน ควรได้รับนมประมาณ 180-230 มิลลิลิตรต่อครั้ง ทุก ๆ 4-5 ชั่วโมง โดยช่วงนี้อาจเริ่มให้ทารกรับประทานอาหารควบคู่ไปกับนมบ้างเล็กน้อย ดังนั้น ความถี่และปริมาณในการให้นมจะปรับไปตามการรับประทานอาหารของเด็กแต่ละคน
เกณฑ์ข้างต้นเป็นเพียงปริมาณที่แนะนำ ไม่ควรยึดข้อมูลนี้เป็นหลักมากจนเกินไป เพราะเด็กแต่ละคนล้วนมีการเจริญเติบโตที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตภาษากายของลูกที่เขาพยายามสื่อสารกับเรา เช่น การแหวะนม ซึ่งอาจแสดงว่าลูกอิ่มแล้ว หรือเด็กยังดูดขวดนม แต่ข้างในขวดไม่เหลือนมแล้ว อาจแสดงว่าลูกยังไม่อิ่ม
อย่างไรก็ตาม การให้ทารกดื่มนมในปริมาณที่มากเกินไป ก็อาจส่งผลเสียต่อตัวของเด็กได้ ไม่ว่าจะเป็นเกิดอาการมีเสียงครืดคราดในลำคอเหมือนมีเสมหะ มีพุงพลุ้ย เด็กร้องไห้งอแงบ่อย น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นไวผิดปกติซึ่งส่งผลให้เกิดโรคอ้วน หากคุณพ่อคุณแม่มีกังวลเรื่องอาการผิดปกติที่กล่าวมา หรืออาการอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากนี้ สามารถไปขอคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้เลย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
https://www.drnoithefamily.com/post/breastfeeding-vs-formula-the-pros-and-cons