ชมเด็กอย่างไรให้ได้ผลดี ไม่สร้างผลเสีย

17 สิงหาคม 2022

พ่อแม่ผู้ปกครองในยุคสมัยนี้ อาจจะมองว่าเด็กที่ไม่ค่อยมั่นใจในตัวเองนั้นต้องการคำชมเยอะๆมากกว่าเด็กปกติทั่วไป หรือ บางครอบครัวก็ยังมีคุณพ่อคุณแม่ที่ไม่ค่อยชื่นชมลูกตัวเอง เพราะอาจจะอายหรือคิดว่าเด็กนั้นจะหลงตัวเองไป ซึ่งถ้าหากวัดด้วยผลการทดลองทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ ในแง่สุขภาพจิตของเด็กนั้น คำชม มีผลดีมากมาย ถ้าปฏิบัติแบบถูกวิธี

ลำดับแรกต้องเข้าใจก่อนว่า การชมเด็กแบบฟุ่มเฟือยบ่อยๆ เช่น “เก่งมากๆ” “เก่งจังเลย” “สุดยอด” เป็นต้นนั้น ไม่ได้ช่วยส่งเสริมอะไรให้เด็ก ซึ่งเราเคยเข้าใจว่าการชมแบบนี้บ่อยๆจะช่วยเสริมให้เด็กมั่นใจในตัวเองมากขึ้น

แต่ผลที่ได้จากงานวิจัยบอกว่า “ความเชื่อมั่นในตัวเอง”นั้น ไม่ได้มีผลช่วยในแง่ของการเรียน แง่ของการช่วยเสริมสร้างพัฒนาการ หรือเพิ่มความสามารถของเด็กขึ้นเลย แต่จะไปช่วยเสริมเด็กในด้านการจัดการจิตใจของตนเอง รับมือกับความเครียดได้ ซึ่งจริงๆแล้วเราสามารถใช้ “คำชม” ได้มีประสิทธิภาพกับเด็กๆได้มากกว่านั้น โดยเฉพาะเมื่อเรากลับมามองตนเองในข้อเท็จจริงที่ว่า “ผู้ใหญ่มักจะไม่ค่อยพูดตรงๆเวลาเด็กทำอะไรผิดพลาดที่เราเห็น”

ดังนั้นในการชมเชยที่ดี นักจิตวิทยาเด็กแนะนำว่า เราควรมองกิจกรรมหรือสิ่งที่เด็กทำอย่างตรงไปตรงมา ชมเชยและเสริมในจุดที่เขาบกพร่องหรือสามารถพัฒนาต่อได้ เช่น

ลูกของเราเอาภาพวาดที่เขาวาดในโรงเรียนมาให้เราชม ภาพนั้นเป็นภาพรถไฟที่กำลังวิ่งอยู่ในป่าแห่งหนึ่ง แทนที่เราจะชมเชยตามปกติ “สวยมาก” “เป็นภาพที่หนูวาดได้ดีมากเลย” แต่เราลองใส่อารมณ์ร่วมไปกับลูกโดยการลองถามว่า “โห ภาพนนี้สวยมากเลย หนูพยายามอย่างเต็มที่สินะ? อันนี้รถไฟกำลังจะไปที่ไหนเอ่ย?” เมื่อเรารับฟังความเห็นของเด็กๆแล้ว ก็อาจจะชมเชยต่อในด้านความพยายามของเขา “วาดได้ดีมากเลย ดูสิหนูตั้งใจมากเลยใช่ไหมจ๊ะ? ถ้าแบบนี้เราใส่ดอกไม้ตรงนี้ๆไปแม่ว่าน่าจะสวยมากขึ้นอีกหรือเปล่า? ลองดูไหม?” ซึ่งการชมแบบนี้ มีผลให้เด็กเกิดกระบวนการคิดและเรียนรู้ว่าสิ่งที่ตัวเขาทำไปนั้นมันโอเคแล้วหรือรับคำแนะนำจากเราไปพิจารณาต่อไปอีก

ตามที่นักวิจัยได้ศึกษามากล่าวว่า “การชมแบบว่างเปล่าหรือชมแบบขอไปทีนั้น ไม่ส่งผลอะไรให้กับเด็กและบางครั้งจะยังเกิดแง่ลบขึ้นอีกด้วย” เพราะเด็กๆอาจจะสัมผัสได้ว่าเป็นการชมแบบขอไปที ไม่สนใจสิ่งที่เขาพยายามและภูมิใจที่จะนำมาให้พ่อแม่รู้สึกภูมิใจไปกับเขาด้วย

ดังนั้นการชมบุตรหลานที่ดีที่สุดนั้น เป็นการชมแบบใส่ใจในรายละเอียด สร้างความเชื่อมั่น ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ในงานของเขาและสามารถหาทางพัฒนาด้วยตนเองต่อไปได้นั่นเอง

แต่เรื่องนี้นักจิตวิทยาก็ยังให้ความเห็นที่แตกต่างกันไปอยู่บ้าง เช่น บางครั้งการชมเชยเขาให้เห็นถึงความพยายามแล้วจะได้สิ่งดีๆกลับมา ในบางครั้งเขาก็อาจจะทำสิ่งที่ดีๆกลับมาโดยไม่ต้องใช้ความพยายามมากมาย ซึ่งนั่นทำให้เด็กๆอาจจะรู้สึกว่าคำชมไม่มีความหมายใดๆกับเขา และคำชมที่มากเกินไปจะทำให้เด็กๆเบื่อและกลายเป็นคนที่คิดว่าไม่มีอะไรยากลำบากสำหรับเขา

ทั้งนี้ แม้จะมีข้อโต้แย้งในแง่ประโยชน์ของการชมบ่อยไม่บ่อย แต่มีสิ่งนึงที่นักจิตวิทยาลงความเห็นตรงกันว่า การชมเพื่อให้เด็กๆพัฒนานั้นมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการให้เด็กๆเรียนเลย

ในยุคที่สังคมนิยมการกดไลค์แบบนี้ การสร้างความรู้สึกภูมิใจด้วยตัวเองแทนที่จะไปภูมิใจกับการกดไลค์ที่ไม่ต่างไปกับการชมแบบลอยๆแบบนี้ จะช่วยให้เด็กนอกจากเกิดการพัฒนาการแต่ยังสามารถให้เขารับมือกับเรื่องในสังคมอนาคตของเขาได้อย่างมากมายอีกด้วย

กลับบ้านวันนี้ไปเจอลูกๆแล้วลองถามดูว่าวันนี้เขาทำอะไรสำเร็จและภาคภูมิใจกับงานที่เขาพยายามบ้างแล้วหรือเปล่า ถ้าหากมีเวลาจะให้ลูกลองสร้างสรรค์ของเล่นเสริมพัฒนาการด้วยตัวเองก็เป็นไอเดียที่ดี และอย่าพลาดโอกาสที่จะชมเขากับผลงานของเขาด้วยใจจริงละ!

สถานที่แนะนำ